hitexts

Hi, We texts to you.

เศรษฐกิจดีหรือไม่ดีดูจากอะไรบ้าง

เศรษฐกิจดีหรือไม่ดีดูจากอะไรบ้าง

หากดูตามที่ตลาดหลักทรัพย์แนะนำตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือ

1.GDP Growth Rate (Gross Domestic Product)

   เป็นดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่บอกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศในแต่ละปีว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด

   -หาก GDP เป็นบวก หมายความว่าเศรษฐกิจภาพรวมเติบโตขึ้นจากปีก่อนซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีขณะเดียวกันหาก GDP เป็นบวกแต่เป็นบวกที่น้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแสดงว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตแต่เติบโตในระดับที่ช้าลงเรื่อย ๆ

-หาก GDP ติดลบ หมายความว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมมีการหดตัวจากปีก่อนบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นหยุดชะงักหรือชะลอตัว

2.Unemployment Rate อัตราการว่างงาน

   ตัวเลขการว่างงานตัวเลขนี้ในภาพรวมยิ่งน้อยยิ่งดีเพราะแปลว่าคนมีงานทำ แต่ที่สำคัญกว่าตัวเลขที่มากหรือน้อยคือการวิเคราะห์แนวโน้มการว่างงานว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% หากเป็น 1% ไปเรื่อย ๆ ก็ไม่เป็นไรแต่ถ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอาจเริ่มมีปัญหาอย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานที่ต่ำไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้น กำลังขยายตัวไปในทิศทางที่น่าพอใจเสมอไปโดยตัวเลขอัตราการว่างงานที่ต่ำอาจตีความในอีกมุมหนึ่งได้ว่า เพราะหาแรงงานได้ยากมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรของประเทศกำลังวิ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็เป็นได้

3.Inflation Rate เงินเฟ้อ

   เงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่บอกว่าโดยภาพรวมแล้ว สินค้าและบริการต่างๆ ราคาแพงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ (%) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถ้าตัวเลขนี้เป็นบวกแสดงว่าสินค้ามีราคาแพงขึ้น และถ้าตัวเลขติดลบแสดงว่าสินค้ามีราคาลดลง

ตัวเลขเงินเฟ้อนี้ถ้าจะให้ดีและถือว่าเป็นภาวะปกติไม่มีผลเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจ ต้องเป็นเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ ซึ่งข้าวของอาจแพงขึ้นได้นิดหน่อยแต่ก็ไม่เกิน 5% เพราะเงินเฟ้อแบบอ่อนจะทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางด้านการลงทุน การผลิต การจ้างงานและรายได้ประชาชาติได้

นอกจากนี้หากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออกหรือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ปรับลดลงเนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับจะนำไปใช้ซื้อของได้น้อยลง เช่น หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี ขณะที่เงินเฟ้อหรือราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 1% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ จะอยู่ที่ 0.5% ต่อปี

4.Consumer Confidence Index ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

   ทำโดยการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคจากแบบสอบถามซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น มุมมองต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไรมองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือแย่ลงหรือมุมมองต่อการบริโภคจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือไม่จากนั้นจะนำผลสำรวจมาคำนวณดัชนี ดังนี้

ดัชนี = 50 หมายถึง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจทรงตัวจากเดือนก่อน

ดัชนี > 50 หมายถึง  ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดือนก่อน และมีแนวโน้มที่จะบริโภคมากขึ้น

ดัชนี < 50 หมายถึง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเชิงลบต่อเศรษฐกิจกว่าเดือนก่อน และมีแนวโน้มที่จะบริโภคน้อยลง

ข้อดีของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค คือ จะทันเหตุการณ์ช่วยให้มองไปในอนาคตได้เพราะถ้าตัวเลขออกมาไม่ดีก็พอจะมองเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจในอนาคตอย่างน้อยๆ ภายในระยะเวลาอันใกล้ได้

ส่วนข้อเสีย คือ มุมมองความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วดังนั้นตัวเลขนี้จะสามารถบอกอนาคตได้ในระยะสั้นเท่านั้น

5.Business Sentiment Index ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

   เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ตัดสินใจดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ประกอบการว่ามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างไรกำลังกังวลต่อภาวะธุรกิจอยู่หรือไม่โดยสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการจากแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ใน 6 องค์ประกอบได้แก่

    5.1 การผลิต   

    5.2 คำสั่งซื้อ

    5.3 การลงทุน

    5.4 ต้นทุนการผลิต

    5.5 ผลประกอบการ และ

    5.6 การจ้างงาน

    ดัชนี = 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัวจากเดือนก่อน

    ดัชนี > 50 หมายถึง  ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้นกว่าเดือนก่อน

    ดัชนี < 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลงกว่าเดือนก่อน

6.Private Investment Index ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน

    ดัชนีนี้ใช้ติดตามภาวะและประเมินแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้น จึงเป็นดัชนีที่สะท้อน  อุปสงค์ภายในประเทศสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงโดยมีองค์ประกอบ 5 รายการ ได้แก่

    6.1 พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

    6.2 ปริมาณจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง)

    6.3 การนำเข้าสินค้าทุน

    6.4 ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักร/อุปกรณ์ในประเทศ และ

    6.5 ปริมาณจำหน่ายยานยนต์เพื่อการลงทุน

    สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะขยายตัวหรือหดตัวได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะเวลาที่ผู้ผลิตขายของได้ เนื่องจากเห็นว่าผู้บริโภคมีการซื้อของ ขณะที่สินค้าคงเหลือก็เหลือน้อยลงผู้ผลิตก็มีแนวโน้มที่จะสั่งของมาผลิตเพิ่มขึ้นมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

  ในทางกลับกันหากผู้ผลิตขายของไม่ได้ ผู้บริโภคไม่ซื้อหรือซื้อน้อยลง สินค้าคงเหลือมีมากขึ้น ผู้ผลิตจำนวนมากก็จะชะลอการผลิตอาจสั่งเครื่องจักรสั่งสินค้าน้อยลงก็เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าลง

  นี่คือการวิเคราะห์แบบนักวิชาการ จริงๆ ยังมีรายละเอียดและดัชนีชี้วัดอีกมากในแต่ละหัวข้อแต่เป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจสำหรับชาวบ้านหรือประชาชนคนทั่วไปจึงไม่ได้นำมาเขียนไว้ในที่นี้

มาดูว่าการวิเคราะห์แบบนักวิชาเกินว่าจะดูจากอะไรบ้างเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี

ทีนี้มาดูว่าการวิเคราะห์แบบนักวิชาเกินว่าจะดูจากอะไรบ้างเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี

1.มาม่ากับปลากระป๋อง

ถ้าหากคนซื้อเยอะและขายดีแปลว่าเศรษฐกิจเริ่มแย่คนรายได้ลดหรือรายได้น้อยลงจึงต้องต้องกินมาม่าหรือปลากระป๋องเพื่อประหยัดเพราะไม่มั่นใจในอนาคตทางการเงินของตัวเองแล้ว

2.Taxi มีเยอะขึ้นว่างทั้งวัน

จะหาง่ายและไม่เรื่องมากบอกไปไหนก็ไปหมดเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ขึ้นคนหนีไปขึ้นรถเมล์ รถสาธารณะอื่นๆ กันหมดเพราะรายได้ไม่มีซ้ำบ้างคนเริ่มไม่มีงานทำแล้วและหากขึ้นไปก็จะเจอคนขับ Taxi บ่นว่าไม่มีผู้โดยสารบ้าง หาผู้โดยสารยากมากบ้าง วิ่งรถไม่คุ้มค่าแก๊สเลยบ้าง

3.มอไซค์รับจ้างและไรเดอร์ส่งอาหาร

จะวิ่งกันเกลื่อนเมือง เพราะคนไม่มีงานทำหรือมีงานทำแต่รายได้ไม่พอจึงต้องมาหารายได้เสริม

4.สาวเสิร์ฟร้านอาหารต่างๆ จะมีหน้าตาดีผิดปกติ

เพราะงานปกติเริ่มหายากงานอะไรก็ทำไปก่อนประกอบกับร้านอาหารก็เลิกจ้างพนักงานหน้าตาไม่ดีออกไปเพราะเริ่มมีตัวเลือกเยอะ

5.แม่ค้าพ่อค้าในตลาดสด ตลาดนัด

นั่งหลับและหาวเรอกันเป็นแถบๆ บ้างก็นั่งตบยุงลายกันเป็นว่าเล่นเพราะไม่มีลูกค้ามาซื้อของเหมือนเดิม บางตลาดคนขายมากกว่าคนซื้อซะอีก

6.ช่างซ่อมงานบ้านเล็กๆ น้อยหาง่ายมาก

น้ำไม่ไหล ไฟดับ ปั๊มน้ำเสีย ประตู หน้าต่างพังชำรุด แอร์ไม่เย็น มีช่างให้เรียกมากผิดปกติ ราคาก็ถูก เรียกมาก็ง่าย ตามเสาไฟฟ้า รั่วบ้าน ตู้จดหมายจะมีคนมาแปะ มาเสียบเบอร์โทรช่างและงานบริการต่างๆ เต็มไปหมด

หากเศรษฐกิจดีทั้ง 6 ข้อนี้จะเป็นไปในทางตรงข้ามคนจะกินอาหารดีขึ้นบุฟเฟต์ ปิ้งย่าง ชาบูก็ว่ากันไป Taxi ก็จะหายากและเล่นตัวอยากไปก็ไป ไม่อยากไปก็ไม่ไป สารเสิร์ฟหน้าตาดีจะไม่มีให้เห็น แม่ค้าพ่อค้าในตลาดตก็จะขายของดีคนเดินจับจ่ายพลุกพล่าน ช่างก็จะเริ่มหายากและไม่รับงานเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงนักศึกษาจบใหม่ก็หางานทำไม่ได้อีกจำนวนมากจากเรื่องที่เราสัมผัสได้รอบๆ ตัวเราเหล่านี้จึงพอบอกได้ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี

Conclusion

แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตามหลักการ “ประหยัด เก็บออมเงิน” ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยยังเป็นเรื่องที่สำคัญเสมอสำหรับทุกคน “เงินเรื่องเล็ก แต่ไม่มีเงินเรื่องใหญ่” และเงินที่สำคัญที่สุดคือ “เงินเหลือ” อย่าลืมว่า “เงินที่หาได้ ไม่สำคัญเท่ากับเงินที่เก็บได้”

Related Post

ประชาชนต้องไม่แบ่งข้างหรือแยกขั้วทางการเมือง
23Jul

ประชาชนต้องไม่แบ่งข้างหรือแยกขั้วทางการเมือง

ประชาชนต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวและทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างถ่องแท้รู้ว่าประเทศปกครองในระบอบอะไร ระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างไร กระทรวงต่างๆ มีหน้าที่อะไรบ้าง

ทำไมจึงต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
08Jul

ทำไมจึงต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อมีการอยู่ร่วมกันของมนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปกครองเมื่อการปกครองก็ต้องมีการจัดระบอบการปกครองขึ้นมาเพื่อใช้ในการปกครองมนุษย์ด้วยกันซึ่งปัจจุบันมี 2 แบบหลัก (ไม่ข้อกล่าวถึงแบบแยกย่อยต่างๆ)

Cardiovascular Disease (CVD)
08Jul

Cardiovascular Disease (CVD)

การทานอาหารทั้ง 6 ชนิดนี้ให้เพียงพอช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่ได้ Cardiovascular Disease (CVD)

เกาเหลาเนื้ออร่อยไร้เทียมทาน
21Jan

เกาเหลาเนื้ออร่อยไร้เทียมทาน

กินก่อนตายไม่เสียดายชาติเกิดเกาเนื้อที่ทำด้วยจอมยุทธเซี้ยเดี่ยวมือหนึ่งเกาเหลาเนื้อจ้าวยุทธจักรที่ยากจะหาผู้ต่อกรได้

รัสเซียยูเครน
13Oct

รัสเซียยูเครน

สงครามคือหนึ่งในเรื่องที่โหดร้ายของมนุษย์ในการเข่นฆ่ากันเองและถือเป็นเรื่องล้าหลังและไร้อารยธรรมของความเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง

เศรษฐกิจดีหรือไม่ดีดูจากอะไร
21Sep

เศรษฐกิจดีหรือไม่ดีดูจากอะไร

ทำไมบางช่วงหาเงินยากบางช่วงก็หาเงินง่ายอะไรคือตัวแปรหลักและเราจะต้องทำไงในแต่ละช่วงเวลาที่บอกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี

© 2022 hitexts. All rights reserved